โรงเรียนทุ่งฟ้าวิทยาคม
-  ตำบลท้องฟ้า  อำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก 63000
เบอร์โทรศัพท์ (055) 030255
ประวัติโรงเรียน
ประวัติโรงเรียน
ประวัติโรงเรียนโดยย่อ

                ตามแผนการศึกษาแห่งชาติฉบับที่ ๕ ได้กำหนดให้มีโรงเรียนมัธยมศึกษาขึ้นในจังหวัดตาก อีก ๑ โรงเรียน คณะกรรมการผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาจังหวัดตาก โดยมีนายลำยง  บ่อน้อย ประธานกลุ่มโรงเรียนมัธยมศึกษาจังหวัดตาก ได้หาพื้นที่ที่จะสร้างโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งใหม่ ในที่สุดก็ได้ข้อมูลจำนวนนักเรียนที่จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และสถานที่สร้างโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งใหม่ ในเขตอำเภอบ้านตาก มีผู้เสนอสถานที่สร้างโรงเรียนมัธยมศึกษาใหม่นี้หลายที่ด้วยกันในที่สุดคณะกรรมการสำรวจและออกแบบจากกรมสามัญศึกษา ได้มาสำรวจและตกลงเลือกพื้นที่ระหว่าง ตำบลทุ่งกระเชาะ และตำบลท้องฟ้า ในเขตหมู่บ้านใหม่ คือ บริเวณที่ตั้งโรงเรียนในปัจจุบัน ่เดิมเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ใช้เป็นป่าช้า ด้วยเหตุที่ตั้งของโรงเรียนอยู่ระหว่างตำบลทุ่งกระเชาะ และตำบลท้องฟ้าจึงได้นำชื่อของทั้งสอง ตำบลมา ตั้งชื่อโรงเรียน ว่า “โรงเรียนทุ่งฟ้าวิทยาคม” โดยมีชาวบ้านทั้งสองตำบลมาเป็นคณะกรรมการสำรวจและวัดที่ให้เป็นของโรงเรียนประกอบ ด้วย
                 ๑. นายปัน  วันขัน              ประธานสภาตำบล
                 ๒. นายถาน  ตาลาย           ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๔ ตำบลท้องฟ้า
                 ๓. นายวัน  คำภิโล             ผู้ทรงคุณวุฒิ
                 ๔. นายจรูญ  เปรมพล         ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๒ ตำบลท้องฟ้า
                 ๕. นายปัญญา  เปรมพล     ผู้ทรงคุณวุฒิ
                 ๖. นายทอน  โพธิ์ทอง       ช่างสภาตำบล
                 ๗. นายก๋วน  ขันฟอง          ผู้ทรงคุณวุฒิ
                 ๘. นายเสาแก้ว  เหลามา    สาธารณสุขตำบลท้องฟ้า
                 ๙. นายคำ  คำปลิว             ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๑ ตำบลท้องฟ้า
                ๑๐. นายผัด  บุญมี              ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๖ ตำบลทุ่งกระเชาะ
                ๑๑. นายทอน  คำภิโล         ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๕ ตำบลทุ่งกระเชาะ
                ๑๒. นายทนง  บุรีรักษ์         พัฒนากรตำบลท้องฟ้า
                ๑๓. นายรัฐวุฒิชัย  ใจกล้า   เลขาสภาตำบลท้องฟ้า เป็นผู้บันทึกการประชุมและมีคณะกรรมการ

                ผู้ชี้จุดวัดพื้นที่อีก ๒ คน คือ นายพรพจน์  ใจใส ครูใหญ่โรงเรียนบ้านใหม่ และนายวัน นำฟู โดยผังโรงเรียน มีพื้นที่ประมาณ ๗๘ ไร่ ต่อมาเจ้าหน้าที่จากกรมสามัญศึกษาได้มาสำรวจ ส่องกล้องระยะทาง และหาพื้นที่ ได้พื้นที่ ประมาณ ๗๐ ไร่ และได้ออกผังพื้นที่และผังการก่อสร้างอาคาร

                โรงเรียนทุ่งฟ้าวิทยาคม เป็นโรงเรียนในสังกัดกรมสามัญศึกษา(เดิม) ปัจจุบันคือสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาตาก  ตั้งอยู่ที่หมู่ ๑ ตำบลท้องฟ้า อำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก พื้นที่เป็นเนินหินลูกรัง ที่สาธารณะประโยชน์ป่าช้าเก่า อยู่ระหว่างตำบลทุ่งกระเชาะกับตำบลท้องฟ้า ที่มาของชื่อโรงเรียน ได้มาจากการนำชื่อ ของทั้งสองตำบลมารวมกันเป็นชื่อของโรงเรียน คือ “ทุ่ง” มาจาก ทุ่งกระเชาะ “ฟ้า” มาจาก ท้องฟ้า โรงเรียนอยู่ห่างจากตัวอำเภอบ้านตาก ประมาณ ๑๒ กิโลเมตร และห่างจากศาลากลางจังหวัดตาก ประมาณ ๓๖ กิโลเมตร โดยมีอาณาเขตติดต่อ

                                ทิศเหนือ                              ติดกับ                     โรงเรียนบ้านใหม่
                                ทิศใต้                                  ติดกับ                     ตำบลทุ่งกระเชาะ
                                ทิศตะวันออก                         ติดกับ                     บ้านรังแร้ง
                                ทิศตะวันตก                           ติดกับ                     ถนนเทศบาลตำบลทุ่งกระเชาะ
 
                ปัจจุบันโรงเรียนทุ่งฟ้าวิทยาคม มีพื้นที่ทั้งหมด  ๗๐ ไร่  แบ่งเป็นสองส่วนได้แก่
                      ๑. บริเวณที่ตั้งโรงเรียน  โรงฝึกงาน  สนามกีฬา  สระน้ำ  และบ้านพักครู ประมาณ  ๒๐  ไร่
                      ๒. สวนป่าธรรมชาติ  ๕๐  ไร่

                โรงเรียนทุ่งฟ้าวิทยาคม เปิดทำการสอนครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๒๘ ตามประกาศจัดตั้งของ กระทรวงศึกษาธิการ เปิดสอน ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น นายสะอาด  อ๊อดทรัพย์ ขณะนั้นดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่โรงเรียนบ้านตาก “ประชาวิทยาคาร” มารักษาการตำแหน่งครูใหญ่โรงเรียนทุ่งฟ้าวิทยาคมอีกตำแหน่งหนึ่งได้ขอความร่วมมือจากชาวตำบลทั้งสองสละเงินหลังคาเรือนละ ๑๐ บาท เพื่อใช้ในการปรับพื้นที่และก่อสร้างอาคารเรียนชั่วคราวหลังคามุงแฝก ๑ หลัง จำนวน ๔ ห้องเรียน (บริเวณสนามฟุตบอล) ปัจจุบันรื้อออกแล้วเนื่องจากผุพัง

ต่อมา นายปรีชา  เชษฐตระกูล ข้าราชการครูโรงเรียนสรรพวิทยาคม มาดำรงตำแหน่งครูใหญ่ เมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๒๘  กรมสามัญศึกษาได้จัดสรรงบประมาณเป็นค่าก่อสร้างบ้านพักครูโสดแบบ ๕ หน่วย จำนวน ๑ หลัง บ้านพักนักการภารโรง ๑ หลัง และอาคารฝึกงานแบบ ชค. ๑๐๔  จำนวน ๑ หลัง (มี ๒หน่วย) พร้อมห้องน้ำนักเรียนแบบ ๖ ที่ อีก ๑ หลัง

นายวิษณุ  สายหยุด ข้าราชการครูโรงเรียนตากพิทยาคม ทำหน้าที่ผู้ประสานงานกรมสามัญศึกษาจังหวัดตาก มาดำรงตำแหน่งต่อมา เมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๒๙ กรมสามัญศึกษาได้จัดสรรงบประมาณเป็นค่าก่อสร้างอาคารเรียนแบบ ๑๐๘ ล จำนวน ๑ หลัง บ้านพักครู ๒ หลัง หอถังประปาตามแบบของกรมสามัญศึกษา ๑ ถัง

วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๓๒ กรมสามัญศึกษาได้มีคำสั่งแต่งตั้งให้ นายสีไร  ต๊ะมูล ข้าราชการครูโรงเรียนตากพิทยาคม ทำหน้าที่ผู้ประสานงานกรมสามัญศึกษาจังหวัดตากให้มาดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่โรงเรียนทุ่งฟ้าวิทยาคม กรมสามัญศึกษาได้จัดสรรงบประมาณเป็นค่าก่อสร้างบ้านพักผู้บริหาร จำนวน ๑ หลัง ห้องน้ำห้องส้วมนักเรียน แบบ ๖ ที่ จำนวน ๑ หลัง และอาคารเรียนแบบ ๑๐๘ ล/๓๐ อีก ๑ หลัง ได้จัดกิจกรรมขันโตกทุ่งฟ้า ราตรีทุ่งฟ้า งานทอดผ้าป่า จัดสร้างถังเก็บน้ำ ต่อเติมใต้ถุนอาคารเรียนหลังที่ ๒ เป็นห้องสมุด ห้องเรียน สำหรับบ้านพักนักเรียนแบบ ๘ คน จำนวน ๔ หลัง

วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๔๓ กรมสามัญศึกษาได้มีคำสั่งแต่งตั้งให้ นายไพโรจน์  มั่งเชียง ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียนผดุงปัญญา ระดับ ๘ มาดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่โรงเรียนทุ่งฟ้าวิทยาคม ระดับ ๘ ได้ปรับปรุงซ่อมแซมอาคารเรียน จัดทำโรงอาหาร ห้องคอมพิวเตอร์ ๑ ห้อง ห้องสำนักงานบริการ ห้องธุรการ ปรับปรุงรั้วโรงเรียน จัดทำป้ายชื่อโรงเรียน สร้างถนนภายในโรงเรียนจากเงินงบประมาณ สร้างถนนลาดยางจากหน้าโรงเรียนมาจนจดถนนภายในโรงเรียน จัดสภาพแวดล้อมภายในให้ร่มรื่น จัดสร้างศาลาพักผ่อนและจัดสร้างสนามบาส ด้วยงบบริจาคจากบริษัทยูลินิเวอร์ ได้รับเงินงบประมาณจัดทำระบบประปาจากกรมสามัญศึกษา เดินประปาจากเทศบาลตำบลทุ่งกระเชาะ เข้ามาใช้ในบริเวณโรงเรียน

วันที่  ๑๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ นายชาญณรงค์  ภูมิถาวร ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียนสวรรค์อนันต์ จังหวัดสุโขทัย ได้รับคำสั่งกรมสามัญศึกษา ให้มาดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่โรงเรียนทุ่งฟ้าวิทยาคม ได้พัฒนาโรงเรียน คือปรับภูมิทัศน์ โดยการสร้างสวนพักผ่อน ระหว่างอาคาร ๑กับอาคาร ๒ ต่อเติมห้องสมุด ขยายบริเวณที่จอดรถของนักเรียนโดยจัดทำในรูปของค่ายอาสาพัฒนา สร้างสวนอาหารบริเวณด้านหลังอาคาร ๒ และในปีงบประมาณ ๒๕๔๖ กรมสามัญได้จัดสรรงบประมาณในการสร้างอาคารเรียนแบบกึ่งถาวร จำนวน ๑ หลัง และหอประชุม – โรงอาหารแบบ ๑๐๐/๒๗  จำนวน ๑ หลัง สร้างถนน คสล. ขนาดกว้าง ๔ เมตร หนา ๐.๑๒ เมตร ยาว ๑๘๗ เมตร โดยใช้งบประมาณเหลือจ่าย และงบงดตอกเสาเข็ม

วันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๔๖ นายอมรศักดิ์  เรืองรุ่ง ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหมี่วิทยาคม จังหวัดลพบุรี ให้มาดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่โรงเรียนทุ่งฟ้าวิทยาคม ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการโรงเรียนทุ่งฟ้าวิทยาคม

วันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๔๘ นางสาวอรุณศรี  เงินเสือ รองผู้อำนวยการโรงเรียนพิษณุโลกปัญญานุกูล ได้รับคำสั่งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาตาก เขต ๑ ให้มาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนทุ่งฟ้าวิทยาคม โดยได้พัฒนาโรงเรียน คือ ปรับภูมิทัศน์ โดยการสร้างลานราฎษร์ร่วมใจเทอดไท้องค์ราชัน สร้างถนนคอนกรีตหน้าโรงเรียนถึงหน้าอาคาร ๑ ส่งเสริมโครงการธนาคารขยะ ได้รับรางวัลชมเชยระดับประเทศ

วันที่ ๗ มกราคม ๒๕๕๓ นายอนันต์  ทะตา  ได้รับคำสั่งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาตาก เขต ๑ มาปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการโรงเรียนทุ่งฟ้าวิทยาคม ให้มาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนทุ่งฟ้าวิทยาคม โดยได้พัฒนาโรงเรียน คือ ปรับสภาพภูมิทัศน์ ปรับปรุงซ่อมแซมบ้านพักนักเรียนสร้างโรงจอดรถครูและปรับปรุงซ่อมแซมห้องน้ำนักเรียน

วันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ ดร.รัตนา  เจริญศรี  ได้รับคำสั่งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต ๓๘ มาปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการโรงเรียนทุ่งฟ้าวิทยาคม ให้มาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนทุ่งฟ้าวิทยาคม โดยได้พัฒนาโรงเรียน คือ ปรับสภาพภูมิทัศน์ ปรับปรุงซ่อมแซมบ้านพักครู บ้านพักนักเรียน โรงฝึกงาน ตลอดจนแหล่งเรียนรู้ มาเป็นลำดับ

วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ นายสาโรช  เกตุสาคร  ได้รับคำสั่งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต ๓๘ มาปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการโรงเรียนทุ่งฟ้าวิทยาคม ให้มาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนทุ่งฟ้าวิทยาคม โดยได้พัฒนาโรงเรียน คือ ปรับสภาพภูมิทัศน์ ปรับปรุงซ่อมแซมบ้านพักครู บ้านพักนักเรียน สร้างโรงจอดรถครู ปรับปรุงซ่อมแซมห้องเรียน อาคารเรียน อาคารเอนกประสงค์ และหอประชุมโรงอาหาร มาเป็นลำดับ

ปัจจุบันมี ว่าที่ร้อยตรี อาคม  มาจันทร์  ได้รับคำสั่งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต ๓๘ มาปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการโรงเรียนทุ่งฟ้าวิทยาคม ให้มาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนทุ่งฟ้าวิทยาคม

โรงเรียนเปิดสอนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น – ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย มีนักเรียน รวมทั้งสิ้น  ๒๑๖ คน  ครูประจำ  ๑๒ คน พนักงานราชการ  ๑  คน ครูอัตราจ้าง ๓  คน  ลูกจ้างประจำ (ช่างปูน ช.4) จำนวน ๑ คน  

โรงเรียนมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาการศึกษาให้นักเรียนเป็น "คนดี คนเก่ง และมีความสุข"